เพื่อน ๆ คนไหนบ้างที่ติดนิสัยตั้งนาฬิกาปลุกด้วยมือถือ หรือเวลาคุยกับกิ๊กกับแฟนเสร็จในตอนกลางคืนแล้วชอบวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัว เผื่อตอนเช้าเสียงนาฬิกาปลุกดังหรือมีคนโทรมาจะได้ไม่ต้องลุกหรือเอื้อมมือไกล เรียกว่าเอาความสบายเป็นหลักดีกว่า เชื่อว่าหลายคนคงมีพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น เพราะผู้เขียนเองก็จัดเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ซึ่งคุณรู้หรือไม่ว่านิสัยติดสบายแบบนี้นี่แหละที่แฝงไว้ด้วยอันตรายที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาทำลายสุขภาพโดยที่เราไม่รู้ตัว วันนี้เลยขอนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน
"เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโทรศัพท์มือถือของเรานั้นมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็ง สังเกตุง่ายๆ จากการคุยติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง มักจะมีอาการปวดหู บางครั้งอาจลามไปถึงศีรษะก็มี เคยมีรายงานฉบับหนึ่งได้ระบุถึงอันตรายจากการคุยโทรศัพท์แบบแนบหูว่า การถือโทรศัพท์แนบหูทำให้เกิดการดูดซับพลังงานที่สมองซึ่งปริมาณการดูดซับขึ้นอยู่กับการออกแบบตัวเครื่องและเสาอากาศ ลักษณะการใช้และระดับสัญญาณระหว่างตัวเครื่องและสถานีฐาน ที่สำคัญคือ สมองเด็กจะได้รับคลื่นมากกว่าผู้ใหญ่ 2 เท่า และไขกระดูกของกระโหลกศีรษะเด็กจะได้รับคลื่นมากกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า
นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า กลุ่มที่ใช้โทรศัพท์มากกว่า 1,640 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเป็นมะเร็งสมองชนิด Glioma หรือเนื้องอกในสมองข้างเดียวกับที่ใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับคลื่นสูงที่สุด"
"ซึ่งจากผลสำรวจของสบท. ที่จัดทำขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยอัญสัมชัญหรือเอแบคโพลพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมที่ความเสี่ยงต่อการได้รับคลื่นสัญญาณนอกจากการใช้งาน พบว่า ร้อยละ 64.5 นิยมวางโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ที่หัวเตียงพร้อมกับเปิดเครื่องไว้ในเวลานอน ร้อยละ 41.6 ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋ากระโปรง และร้อยละ 23.7 นิยมใส่ไว้ในกระเป๋าพกพา"
จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า คนส่วนใหญ่มักวางโทรศัพท์มือถือเอาไว้ใกล้ตัวขณะนอนหลับโดยไม่ปิดเครื่อง มิหน่ำซ้ำบางคนยังชาร์ทแบตไว้ใกล้ตัวด้วย ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการปิดเครื่องแล้ววางให้ห่างจากตัว แต่หากมีความจำเป็นที่ไม่สามารถปิดเครื่องได้ก็ควรวางโทรศัพท์ให้ห่างจากเตียงนอนในระยะหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกินความจำเป็น