Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มือถือเจ้าปัญหา


คมชัดลึก : ตลอดสัปดาห์ที่แล้วเรื่องโทรศัพท์มือถือครอบคลุมสื่อในด้านข่าวเศรษฐกิจยิ่ง กว่าข่าวอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ประกาศจะประมูลใบอนุญาตใหม่ระบบ 3จี หรือเรื่องที่กระทรวงการคลังกับกระทรวงไอซีทีจะแปลงสัมปทานมือถือในปัจจุบัน ให้เป็นใบอนุญาตซึ่งทำให้ผู้คนทั้งในวงการและนอกวงการออกจะสับสนอยู่ไม่น้อย
ใคร่ขอทบทวนความทรงจำว่า เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วกิจการทางด้านโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์และอื่นๆ รัฐบาลทำทั้งสิ้น ทุกคนคงจำได้ว่านอกจากจ่ายค่าบริการแพงแล้วยังยุ่งยากในการขอรับบริการ เช่น จะขอโทรศัพท์ไว้ใช้ในสำนักงานหรือบ้านสักหมายเลขหนึ่งก็ต้องรอกันเป็นปีแถม จะต้องจ่ายเงินที่ไม่มีใบเสร็จอีก 3-5 หมื่นต่อ 1 เลขหมาย ต่อเมื่อทางการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ารับสัมปทานก็ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านบริการและค่าบริการในทางที่ดีขึ้น

นี่เป็นคุณูปการที่สำคัญของนโยบายรัฐในด้านโทรคมนาคมที่ผู้คนส่วนใหญ่ลืมกันไปเสียหมด

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมกับนโยบายของรัฐที่ เปลี่ยนแปลงทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านการใช้โทรศัพท์เปลี่ยนตามไปด้วย กล่าวคือ มีคนใช้มือถือกันมากขึ้นกว่าใช้โทรศัพท์ประจำที่ เทคโนโลยีที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือใน เมืองไทยปัจจุบันเรียกว่าเป็นระบบในรุ่นที่ 2 หรือ 2จี (2 generation) แต่โลกโทรคมนาคมเขาได้พัฒนาเป็นรุ่นที่ 3 (3จี) และรุ่นที่ 4 (4จี) กันไปแล้ว ระบบที่เมืองไทยจะเปิดให้อนุญาตใหม่เป็นระบบ 3.9จี เรียกว่าทันสมัยทีเดียว

สำหรับชาวบ้านธรรมดาที่ใช้โทรศัพท์เพียงเพื่อพูดคุยหรือส่งข้อความสั้นๆ ไปมาระหว่างกันนั้นโทรศัพท์มือถือระบบ 2จี หรือ 3.9จี ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ไม่เชื่อก็ให้ทดลองใช้กันได้ขณะนี้ซึ่งผู้ประกอบการบางค่ายทดลองใช้ในบาง ท้องที่แล้ว แต่ระบบ 3/3.9จี จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ดูหนังฟังเพลงผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือผู้ที่ต้องการสื่อข้อความจำนวนมากๆ ผ่านระบบมือถือเท่านั้น

และไม่ว่าอย่างไรผู้ใช้มือถือรุ่น 3จี จะต้องจ่ายค่าใช้บริการสูงขึ้นตามเงินลงทุนขยายและปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์ ประกอบทั้งต้องเสียค่า "แป๊ะเจี๊ยะ" ให้รัฐสูงมาก เพียงลำพังค่าใบอนุญาตขั้นต่ำที่ตัวเลขถูกเปิดเผยออกมาก็เป็นเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว และค่าธรรมเนียมอย่างอื่นก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเท่าไร ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเหล่านี้ที่ต้องทุ่มเงินลงทุนเพื่อประมูลให้ได้ใบ อนุญาตนั้นแน่นอนย่อมต้องถูกผลักไปสู่ผู้บริโภคอย่างไม่มีปัญหาเพราะธุรกิจ ไม่ว่าอะไรใครเขาจะทำเพื่อการขาดทุน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พอคาดเดาได้ว่าในจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือใน ประเทศไทยปัจจุบันซึ่งถือ "ซิม" (เลขหมาย) บางคนถือหลายซิมนั้นรวมกันทั้งประเทศแล้วถึง 64 ล้านซิมเกินกว่าจำนวนประชากรไทยรวมลูกเด็กเล็กแดงเสียอีกนั้นคงมีเพียงไม่ กี่คนที่จะทิ้งเบอร์เก่าไปเข้าระบบ 3จี ซึ่งคงจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลตื่นกลัวแล้วรีบลนลานคิดจะเปลี่ยนจากการให้ สัมปทานเป็นการให้ใบอนุญาต ไม่ทราบว่าคิดทำให้ยุ่งไปเปล่าๆ ทำไม

อนึ่ง ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่มีนโยบายของชาติตั้งคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กทช.) ขึ้นมานั้น ก็เพื่อกำกับควบคุมดูแลงานโทรคมนาคมตามแบบฝรั่งให้เกิดการแข่งขันที่เป็น ธรรมและผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คือได้รับบริการโทรคมนาคมทั่วถึงเท่าเทียมและประหยัด แต่ กทช.ของไทยนั้นลืมบทบาทหลักของตัวเองดันไปเล่นบทบาทของกรมสรรพากรคือรีด "ภาษี" ให้มากที่สุด ซึ่งเท่ากับจำกัดโอกาสในการใช้โทรศัพท์ 3จี ให้อยู่แต่ภายในวงจำกัดเท่านั้น

และแม้รัฐบาลจะทำท่าไม่เห็นด้วยกับ กทช. ก็ได้แต่มองตาปริบๆ นี่คือประเทศไทย

นายหนูใหญ่
nainuyai@gmail.com

รายการบล็อกของฉัน